|
สัญลักษณ์ของดนตรีไทยมีเอกลักษณ์ประจำชาติซึ่งจะพิจารณาได้ ๓ ประการคือ วัสดุที่สร้างประการหนึ่ง รูปร่างประการหนึ่ง และเสียงของเครื่องดนตรีอีกประการหนึ่ง
วัสดุที่สร้าง เครื่องดนตรีของทุกๆ ชาติในยุคเริ่มแรก ก็มักจะใช้วัสดุที่มีอยู่ในถิ่นของตนมาสรรค์สร้างขึ้น แล้วจึงค่อยวิวัฒนาการต่อไป ภูมิประเทศของไทยตั้งแต่สมัยโบราณนั้นอุดมไปด้วยไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หนัง และกระดูกสัตว์ที่ใช้งานและใช้เนื้อเป็นอาหาร เครื่องดนตรีของไทยมักจะสร้างจากสิ่งเหล่านี้โดยมาก เช่น ซอด้วง ขั้นแรกกระบอกซอด้วงก็ใช้ทำด้วยไม้ไผ่แล้วเปลี่ยนเป็นไม้เนื้อแข็ง ต่อมาคนไทยมาอยู่ในตอนใต้ลงไปและใช้ช้างเป็นพาหนะและใช้แรงงาน กระบอกซอด้วงจึงทำด้วยงาช้างซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามมาก ซออู้ ซอสามสาย กะโหลกนั้นทำด้วยกะลามะพร้าว ซึ่งอุดมมากในดินแดนของไทยตอนใต้นี้ ระนาดของไทยแม้จะมาเริ่มใช้เอาในตอนหลัง ก็ยังทำด้วยไม้ไผ่ซึ่งมีเสียงไพเราะนุ่มนวลกว่าทำด้วยไม้เนื้อแข็งมาก เพราะไม้ไผ่บงในจังหวัดตราด ทำลูกระนาดมีเสียงไพเราะดีไม่มีที่ไหนสู้ ต่างกับระนาดของชาติใกล้เคียงที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งที่มีเสียงกระด้างกว่า ส่วนกลอง ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็งและขึงหน้าด้วยหนังสัตว์ เฉพาะกลองที่ขึงหนังสองหน้าตรึงด้วยหมุดที่เราเรียกกันว่า “กลองทัด” นั้นจีนได้เอาอย่างไปใช้แล้วเรียกชื่อว่า “น่านตังกู๊” ซึ่งแปลว่า “กลองของชาวใต้” ส่วนฆ้อง ทั้งฆ้องโหม่ง ฆ้องวง ทำด้วยทองเหลือง ซึ่งชาวไทยเราสามารถในเรื่องหล่อทองเหลืองมากยิ่งกว่าชาติอื่นในถิ่นแถบนี้
รูปร่างลักษณะ ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ รูปร่างลักษณะที่จะเห็นว่างดงามนั้น ย่อมเป็นไปตามจิตใจ นิสัย และสัญชาตญาณที่เห็นงามของชาตินั้นๆ ชนชาติไทย เป็นผู้ที่มีจิตใจและนิสัยอ่อนโยน มีเมตตากรุณายิ้มแย้มแจ่มใส ศิลปะต่างๆ ของไทย จึงมักจะเป็นรูปที่เป็นเส้นโค้งอ่อนช้อย ที่จะหักมุม ๔๕ องศานั้นน้อยที่สุด และทุกๆ สิ่งมักจะเป็นปลายเรียวแหลม ขอให้พิจารณาดูศิลปะต่างๆ ของไทยเพื่อเปรียบเทียบ เช่น บ้านไทย จั่วและปั้นลมอ่อนช้อยจนถึงปลายเรียวแหลม ช่อฟ้าใบระกาของปราสาทราชวัง และโบสถ์วิหารล้วนแต่อ่อนช้อยน่าชมสมส่วน ลายไทยซึ่งเต็มไปด้วยกระหนกต่างๆ กระหนกทุกตัวจะเป็นเส้นโค้งอ่อนสลวยและสะบัดสะบิ้งจนถึงปลายแหลม เครื่องแต่งตัวละครรำ เป็นละครของไทยแท้มีมงกุฎและชฎาเรียวและยอดแหลม อินทรธนูที่ประดับบ่าก็โค้งและปลายแหลม ท่ารำของละครแขนและมือเมื่อจะงอหรือ จะเหยียดล้วนเป็นเส้นโค้งตลอดจนปลายนิ้วมือซึ่งอ่อนช้อยน่าดูมาก
ทีนี้มาดูลักษณะรูปร่างของเครื่องดนตรีไทย โทน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ส่วนสัดเป็นเส้นโค้งและมีปลายแหลมทั้งนั้น โขนของฆ้องวงใหญ่และฆ้องเล็กโอนสลวยขึ้นไป คล้ายหลังคาบ้านไทย ส่วนโขนของคันซอด้วงที่เรียกว่า“ทวนบน” ก็โค้งอ่อนขึ้นไปจนปลายคล้ายกับโขนเรือพระราชพิธีของไทยโบราณ นี่คือรูปลักษณะของดนตรีไทย
เสียงของดนตรีไทย เครื่องดนตรีไทยที่สร้างขึ้นนั้นล้วนแต่มีเจตนาให้ไพเราะ แต่ว่าเป็นเสียงไพเราะอย่างนุ่มนวลอ่อนหวานไม่เอะอะหรือเกรี้ยวกราด ซึ่งเป็นไปตามลักษณะนิสัยของชนชาติไทย เสียงซอ เสียงขลุ่ย เสียงปี่ เสียงฆ้อง และเสียงพิณ ล้วนเป็นสิ่งที่มีเสียงนุ่มนวล มีกังวานไพเราะอย่างอ่อนหวาน แม้จะมีสิ่งที่มีเสียงดังมาก เช่นกลองทัดผสมอยู่บางเวลาก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยการบรรเลงเพลงที่มีกลองนั้น มักจะเป็นเพื่อโฆษณาให้ผู้ที่อยู่ไกลได้ยินได้รู้กิจกรรมที่กระทำ อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นเจตนาของผู้สร้างเครื่องดนตรีไทยว่าต้องการความไพเราะอย่างนุ่มนวล ไม่แกร่งกร้าวก็คือ การที่จะเทียบเสียงระนาดและฆ้องวงให้มีเสียงสูงต่ำตามประสงค์นั้น ได้ใช้ขี้ผึ้งผสมกับผงตะกั่วเป็นเครื่องถ่วงเสียง สำหรับระนาดจะติดขี้ผึ้งตรงเบื้องล่างหัวลูกระนาด ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน ส่วนฆ้องวงจะติดขี้ผึ้งตรงใต้ปุ่มฆ้อง ผลของการติดด้วยขี้ผึ้งผสมผงตะกั่วนี้ยิ่งติดมากก็ยิ่งทำให้เสียงต่ำ ถ้าเอาออกก็จะเป็นเสียงสูง นอกจากทำให้เสียงสูงต่ำแล้วยังจะทำให้สิ่งที่เทียบด้วยติดขี้ผึ้งนี้มีเสียงนุ่มนวลไพเราะไม่โฉ่งฉ่าง
| |
ฆ้องที่ทำสำเร็จเป็นเสียงสูงต่ำตามต้องการโดยไม่ต้องติดขี้ผึ้งกับผงตะกั่วนั้น เสียงจะแกร่งกร้าวไม่นุ่มนวล เช่น ฆ้องของพม่าและชวา เป็นต้น แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้มีการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้ ความบันเทิงกัน เมื่อเครื่องดนตรีของไทยที่มีระนาดเอกและฆ้องวงต้องไปบรรเลงในประเทศที่มีอากาศหนาว ความเย็นอาจจะทำให้ขี้ผึ้งกับผงตะกั่วที่ถ่วงเสียงนั้นหลุดได้ง่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การบรรเลงเป็นอันมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจต้องยอมให้เสียงดนตรีขาดความนุ่มนวลลงไป โดยสร้างระนาดและฆ้องวงที่สำเร็จรูปมีเสียงสูงต่ำตามประสงค์โดยไม่ต้องติดขี้ผึ้งถ่วงเสียงก็เป็นได้
การแบ่งประเภทของเครื่องดนตรีไทย
การแบ่งประเภทของเครื่องดนตรีนั้นย่อมจะแตกต่างกันไปได้ตามพื้นภูมิ หรือความนิยมของแต่ละชาติ การแบ่งประเภทของเครื่องดนตรีตามแบบตะวันตกนั้น แบ่งเป็นเครื่องสาย เครื่องลมและเครื่องตี เครื่องสายจะต้องแยกออกเป็นเครื่องดีด และเครื่องสี เครื่องลมก็แยกออกเป็นเครื่องไม้และเครื่องโลหะ และเครื่องตีก็แยกได้เป็น เครื่องบรรเลงทำนองและเครื่องประกอบจังหวะ
ส่วนการแบ่งประเภทของเครื่องดนตรีไทยนั้นถือเอา กิริยาที่บรรเลงให้เกิดเป็นเสียงขึ้นอย่างเดียวเป็นเครื่องแบ่งประเภท คือเครื่องที่ดีดเป็นเสียงเป็นเครื่องที่มีสายใช้มือหรือวัตถุใดๆ ดีดที่สายแล้วก็เกิดเสียงขึ้น เช่น กระจับปี่ จะเข้ อย่างนี้เรียกว่าเครื่องดีด เครื่องที่สีเป็นเสียง เป็นเครืิ่องที่มีสายใช้หางม้าหลายๆ เส้นสีที่สายให้เกิดเสียง เช่น ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ อย่างนี้เรียกว่าเครื่องสี เครื่องที่ตีเป็นเสียง มีทั้งตีด้วยไม้ เช่น ฆ้อง ระนาด กับตีด้วยมือ เช่น ตะโพน โทน หรือของสิ่งเดียวกันสองอันตีกันเอง เช่น กรับและฉิ่ง เหล่านี้เรียกว่า เครื่องตี เครื่องที่เป่าเป็นเสียง เป็นเครื่องที่ต้องใช้ลมเป่าเข้าไปในเครื่องนั้นๆ เช่น ปี่ ขลุ่ย ก็เรียกว่า เครื่องเป่า รวมแล้วดนตรีไทยมี ๔ ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า
การแบ่งหน้าที่ของการบรรเลง
การแบ่งประเภทเป็น ดีด สี ตี เป่า นั้นเป็นการแบ่งประเภทของเครื่องดนตรี แต่เครื่องดนตรีนั้นๆ ย่อมมีหน้าที่ในการบรรเลงซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ พวก
๑. บรรเลงทำนองเพลง
พวกที่ ๑ เป็นพวกที่มีเสียงสูงต่ำเรียงลำดับกันไม่น้อยกว่า ๗ เสียง ดนตรีพวกนี้ มีหน้าที่บรรเลงเป็นทำนองเพลง เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ปี่ ขลุ่ย และซอต่างๆ
๒. บรรเลงประกอบจังหวะ
พวกที่ ๒ เป็นพวกที่มีเสียงสูงต่ำไม่ถึง ๗ เสียง เครื่องดนตรีพวกนี้มีหน้าที่ บรรเลงเป็นเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ ตะโพน กลองทัด โทน รำมะนา เป็นต้น
| |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น