วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เครื่องดนตรีไทย(เครื่องดีด)

เครื่องดีด


เครื่องดนตรีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นเครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดัง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก และรื่นเริงได้ตามทำนองเพลง
เครื่องดนตรีที่เกิดเสียงด้วยการใช้มือหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งดีดที่สาย แล้วเกิดเสียงดังขึ้น เราจะรวมเรียกว่า “เครื่องดีด


เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด เป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ในเครื่องดนตรีตระกูล พิณ” มีสายสำหรับดีด มีทั้งที่ตั้งขึ้นดีดและวางราบดีด ในประเทศไทยมีหลายชนิด รูปร่างลักษณะ วิธีการดีด และชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น จะเข้ พิณ ๕ สาย พิณเปี๊ยะหรือพิณเพี้ยะ พิณน้ำเต้า ซึง พิณอีสาน กระจับปี่ เป็นต้น



กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ประเภทเครื่องดีด มีหลักฐานว่าเล่นกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กล่องเสียงทำด้วยไม้ขุดเป็นโพรง มีช่องเสียงอยู่ด้านหน้า มีคันทวนค่อนข้างยาวปลายด้านบนงอนโค้ง มีสายสำหรับดีด ๔ สายทำด้วยไหม สายที่ ๑ กับสายที่ ๒ เทียบเสียงเท่ากันคู่หนึ่ง และสายที่ ๓ กับสายที่ ๔ เทียบเสียงเท่ากันอีกคู่หนึ่ง มีนมตั้งเสียงติดอยู่กับด้านหน้าของคันทวน

จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด มี ๓ สาย แต่เดิมเป็นสายไหมสองสายและสายลวดหนึ่งสาย แต่ปัจจุบันนิยมใช้สายเอ็นแทนสายไหม ตัวจะเข้ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน นิยมใช้ไม้ขนุน ขุดเป็นโพรง มีช่องเสียงอยู่ข้างล่าง มีนมติดอยู่ทางด้านบนของตัวจะเข้ ๑๑ นม เนื่องจากเป็นเครื่องดีดที่มีขนาดใหญ่เวลาดีดจึงวางราบกับพื้นไม่ยกขึ้นดีดอย่างพิณชนิดอื่นๆ บรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายและมโหรี

พิณเปี๊ยะหรือพิณเพี้ยะ คำว่า "เปี๊ยะ" ในภาษาล้านนาแปลว่า อวด ซึ่งน่าจะหมายถึงการดีดอวดฝีมือของบรรดาผู้ชายชาวเหนือที่ใช้พิณชนิดนี้เป็นสื่อไปเกี่ยวพาราสีผู้หญิง กล่องเสียงของพิณเปี๊ยะทำมาจากกะลามะพร้าวผ่าซีก ผูกติดอยู่กับคันทวน มีสายตั้งแต่ ๒ สายขึ้นไป

ซึง เป็นเครื่องดีดของทาง
ภาคเหนือ คล้ายกับกระจับปี่ แต่ต่างกันที่ปลายทวนด้านบนไม่ยาว งอนโค้งเหมือนกระจับปี่ มีหลายขนาด สายสำหรับดีดทำมาจากลวด บรรเลงเดี่ยว ,รวมกันเป็นหมู่ หรือรวมวงกับสะล้อ ขลุ่ยเมือง และปี่ซอ (ปี่จุม)

พิณอีสาน มีสายสำหรับดีด ๓ สายทำมาจากลวด กล่องเสียงทำด้วยไม้ขุดเป็นโพรง มีช่องเสียงอยู่ด้านหน้า ปลายคันทวนด้านบนจะแกะสลักไม้เป็นรูปพญานาค ปัจจุบันมีทั้งที่เป็นพิณโปร่งธรรมดา พิณไฟฟ้า และพิณเบส


พิณ ๕ สาย เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่พบว่ามีของจริงอยู่แล้ว นักโบราณคดีพบพิณชนิดนี้จากภาพจำหลักสมัยทวารวดี พิณชนิดนี้ไม่มีนมสำหรับกำหนดเสียงแน่นอน อาจารย์มนตรี ตรา
โมท เป็นผู้พิจารณาจำลองแบบขึ้นใหม่ และกำหนดให้บรรเลงอยู่ในวงดนตรีประกอบการแสดงชุดระบำทวารวดี

พิณน้ำเต้า เป็นเครื่องดีดที่เก่าแก่ที่สุดอีกอย่างหนึ่งของไทย มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพิณเปี๊ยะของทางภาคเหนือมาก แต่กล่องเสียงของพิณน้ำเต้าจะทำมาจากผลน้ำเต้าแห้งผ่าซีก และเป็นพิณที่มีสายเดียว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น