| ||
โดย มติชน วัน อาทิตย์ ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2549 08:08 น. |
โดย ฐานะวัฒนา สุขวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเกิดขึ้นและมีอยู่อย่างสลับซับซ้อน บางอย่างเป็นไปอย่างช้าๆ บางอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โลกาภิวัตน์ หรือ โลกไร้พรมแดน เป็นเครือข่ายอำนาจที่ครอบงำโลกซึ่งส่งผลโดยตรงต่อ ระบบสารสนเทศและการสื่อสาร อันเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตและส่งผ่านวัฒนธรรม ซึ่งถ้ามองในด้านผลดี โลกาภิวัตน์นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รุ่งโรจน์ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ระบบโลกและสังคมทุกสังคม ทั้งยังเป็นการสร้างอารยธรรมใหม่คือ อารยธรรมข่าวสาร ในทางกลับกันโลกาภิวัตน์ก็ส่งผลกระทบต่อสังคมที่เชื่อมโยงคนเข้าไปอยู่ในระบบอันใหญ่มหึมาที่ไม่มีใครสามารถควบคุม ทุกคนตกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ และกลายเป็นคนไร้พลังที่จะต่อสู้ต้านทาน เฉกเช่นวัฒนธรรมไทยด้านเพลงไทยเดิมที่กำลังประสบกับสภาวการณ์การไหลบ่าทางวัฒนธรรมตามกระแสโลกาภิวัตน์ อันก่อให้เกิดคลื่นแทรกแซงทางวัฒนธรรม (Culture noise) กล่าวคือ วัยรุ่นไทยให้ความสนใจวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่าวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะเพลงไทยเดิมที่จัดเป็นศิลปวัฒนธรรมไทยอันมีบรรพบุรุษสืบสานมาจนหลายรุ่น ทั้งยังมีท่วงทำนองและสำเนียงหลายเชื้อชาติ เช่น เขมรไทรโยค ลาวดวงเดือน ฝรั่งรำเท้า มอญรำดาบ แต่ไม่ส่งผลให้เด็กวัยรุ่นสนใจและยอมรับ ทั้งยังเลือกฟังเพลงเกาหลีเช่น ดงบังชินกิ หรือ เรน มากกว่า ซึ่งมีส่วนมาจากเพลงไทยเดิมมีท่วงทำนองช้าและเนื้อเพลงส่วนใหญ่ตัดตอนมาจากวรรณคดี โดยเฉพาะการร้องใช้วิธีร้องส่ง กล่าวคือ สลับกันระหว่างการบรรเลงดนตรีกับการร้อง ทำให้เนื้อเพลงที่ไม่เป็นปัจจุบันอยู่แล้วยังขาดความต่อเนื่องในการฟัง การสร้างทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มวัยรุ่นในการฟังเพลงไทยประยุกต์ คือ การนำเพลงไทยเดิมที่แต่งโดยบรมครูไทย มาปรับทำนอง เนื้อร้อง จังหวะและการประสานเสียง นำมาบรรเลงร่วมกันระหว่างเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีสากล เพื่อสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในมิติของเพลงไทยประยุกต์นั้นจึงต้องใช้รูปแบบของการสื่อสาร Star of Elite (ดูกราฟิก) ด้านแหล่งสารและผู้ส่งสาร (7E) Expertise ผู้แต่งเพลงหรือเนื้อร้อง นักดนตรี นักร้องต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ มีทักษะ เชี่ยวชาญ รู้ถึงองค์ประกอบของเพลง (Element) มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน (Equity) เป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่อง (Esteem) มีความเข้าใจกลุ่มวัยรุ่น (Empathy) มีพลังอดทนในการพัฒนาฝีมือ (Energy) และสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมได้ (Entertainment) ด้านเนื้อหาข้อมูล (2L) Lesson ทำนองเพลงจัดเป็นบทเพลงที่ประกอบด้วย เนื้อร้อง จังหวะการประสานเสียง ที่ต้องทันสมัยและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ด้านรู้รับสาร (5T) Target Group กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทดลองฟังและชมเพลงไทยประยุกต์ (Trial) สืบสานวัฒนธรรม (Traditional) การเข้าถึงเพลงด้วยความพึงพอใจ (Touch) และสร้างรสนิยมใหม่กับกลุ่มวัยรุ่น (Taste) ด้านปฏิกิริยาตอบกลับ (2E) Effect ผลตอบกลับจากการสื่อสารที่ได้รับจากกลุ่มวัยรุ่นทั้งยังเป็นการประเมินถึงประสิทธิภาพของการสื่อสาร (Evaluation) ประกายดาวของเพลงไทยประยุกต์จะเจิดจ้าและส่องสว่างได้เพียงใดนั้น ย่อมต้องฝากความหวังไว้กับกลุ่มวัยรุ่น เพราะนอกจากจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการชมและฟังเพลงไทยประยุกต์แล้ว ยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยในอีกมิติหนึ่งอีกด้วย หน้า 5 | ||
หน้านี้ถูกเปิดอ่านแล้ว ครั้ง | ||
อ่านข่าวทั้งหมดของ มติชน ได้ที่นี่ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น