วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วงดนตรีไทย

วงดนตรีไทยพิมพ์ส่งเมล
เขียนโดย เสฯ   
Thursday, 03 February 2011
        การจำแนกหมวดหมู่ของเครื่องดนตรีของแต่ละชาติแต่ละวัฒนธรรม มีแนวคิดและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อการพิพิธภัณฑ์ เพื่อการจัดวงดนตรี ในกรณีของการประสมวงดนตรีไทยนั้น การจะนำเอาเครื่องดนตรีมาประสมวง จะคำนึงถึงความกลมกลืนของเสียงเครื่องดนตรีทีนำมาร่วมกันเป็นเกณฑ์สำคัญ กล่าวคือ ต้องมีระดับความดัง-เบาที่ใกล้เคียงกัน เช่น นำปี่ที่มีเสียงดังมาบรรเลงร่วมกับระนาดเอกที่ตีด้วยไม้แข็ง หรือนำขลุ่ยมาบรรเลงร่วมกับซออู้เช่นนี้ เป็นต้น ในปัจจุบันนี้มีวงดนตรีไทยแบบมาตรฐานอยู่ 3 ประเภท คือ วงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ และวงมโหรี

วงเครื่องสาย

        วงเครื่องสาย เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายเป็นหลัก และมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าเป็นส่วนประกอบ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องหนังใช้โทนรำมะนาบรรเลงจังหวะหน้าทับและมีฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ร่วมบรรเลงประกอบจังหวะ วงเครื่องสายเหมาะสำหรับการบรรเลงในอาคาร นิยมบรรเลงในงานมงคล เช่น พิธีมงคลสมรสและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น วงเครื่องสายแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ วงเครื่องสายไทย วงเครื่องสายผสม และวงเครื่องสายปี่ชวา

1.วงเครื่องสายไทย

        วงเครื่องสายไทย เป็นวงดนตรีที่เหมาะสำหรับการบรรเลงในอาคาร ในลักษณะของการขับกล่อมที่เป็นพิธีมงคล เช่น พิธีมงคลสมรสและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น วงเครื่องสายไทยนี้มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า “วงเครื่องสาย” มีอยู่ 2 ขนาด คือ วงเครื่องสายวงเล็กและวงเครื่องสายเครื่องคู่

        วงเครื่องสายวงเล็ก ประกอบด้วย เครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายและเป่าอย่างละหนึ่งเครื่อง ดังนี้

จะเข้            1 ตัว
ซอด้วง         1 คัน
ซออู้             1 คัน
ขลุ่ย             1 เลา
โทน-รำมะนา  1 คู่
ฉิ่ง              1 คู่
ฉาบ            1 คู่
กรับ            1 คู่
โหม่ง           1 ใบ


 


        วงเครื่องสายเครื่องคู่ วงเครื่องสายเครื่องคู่ประกอบด้วย เครื่องดนตรีที่อยู่ในวงเครื่องสายวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มจำนวนของเครื่องดนตรีประเภททำทำนองจากเครื่องมือละหนึ่งเป็นสองหรือคู่ จึงประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้

จะเข้             2 ตัว
ซอด้วง           2 คัน
ซออู้              2 คัน
ขลุ่ย              2 เลา
ฉิ่ง               1 คู่
ฉาบ              1 คู่
กรับ              1 คู่
โหม่ง            1 ใบ
โทน-รำมะนา   1 คู่

 


2. วงเครื่องสายผสม


        วงเครื่องสายผสม เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่สังกัดในวงเครื่องสายไทยทุกประเภท เพียงแต่นำเอาเครื่องดนตรีที่อยู่นอกเหนือจากวงเครื่องสายไทยมาผสม เช่น ไวโอลิน ออร์แกน ขิม และแคน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เครื่อวงดนตรีที่นำมาผสมนั้นต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของเสียงด้วยว่ามีความกลมกลืนมากน้อยเพียงใด เมื่อนำมารวมกันแล้วจะเรียกชื่อตามเครื่องดนตรีที่นำมาผสม เช่น ถ้านำขิมมาบรรเลงร่วมก็จะเรียกว่า วงเครื่องสายผสมขิม ถ้าหากนำออร์แกนมาบรรเลงร่วม ก็เรียกว่า วงเครื่องสายผสมออร์แกน เช่นนี้เป็นต้น สำหรับโอกาสในการบรรเลงนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับวงเครื่องสายไทยทุกประการ



3.วงเครื่องสายปี่ชวา


        เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเป็นหลัก โดยนำปี่ชวามาบรรเลงแทนขลุ่ยเพียงออ คงเหลือไว้แต่เพียงขลุ่ยหลีบซึ่งมีเสียงสูง เครื่องหนังที่ซึ่งใช้บรรเลงจังหวะหน้าทับในวงเครื่องสายทั่วไป เช่น โทน-รำมะนา ซึ่งมีเสียงเบา ไม่เหมาะกับปี่ชวา ซึ่งมีเสียงดังมาก จึงเปลี่ยนมาใช้กลองแขกบรรเลงแทน วงเครื่องสายปี่ชวามี 2 ขนาด คือ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กและวงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่

    วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็ก ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ปี่ชวา            1 เลา
ขลุ่ยหลีบ        1 เลา
ซอด้วง          1 คัน
ซออู้             1 คัน
จะเข้            1 ตัว
กลองแขก       1 คู่
ฉิ่ง              1 คู่
ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม

 



        วงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายให้เป็น 2 หรือคู่ ดังนี้

ปี่ชวา              1 เลา
ขลุ่ยหลีบ          1 เลา
ซอด้วง            2 คัน
ซออู้               2 คัน
จะเข้              2 ตัว
กลองแขก         1 คู่
ฉิ่ง                1 คู่
ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม

 


วงปี่พาทย์


        วงปี่พาทย์ เป็นรูปแบบของการประสมวงดนตรีของเครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องเป่า อันได้แก่ ปี่ และเครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องตี ได้แก่ ระนาด และฆ้อง เป็นต้น ในการบรรเลง ปี่จะทำหน้าที่เป็นประธานของวง ส่วนฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่บรรเลงทำนองหลักของเพลง ในขณะที่เครื่องทำทำนองอื่นๆ จะทำหน้าที่แปรทำนองลูกฆ้องให้เป็นทางเฉพาะตามความเหมาะสมกับเครื่องดนตรีนั้นๆ โดยมีเครื่องทำจังหวะ เช่น กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ร่วมบรรเลงประกอบ วงดนตรีชนิดนี้นับได้ว่ามีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวไทยเป็นอย่างมากเกือบทุกขั้นตอนของชีวิต ตั้งแต่โกนจุก ทำบุญในเทศกาลต่างๆ บวชนาค พิธีศพ ไปตลอดจนถึงการบรรเลงประกอบการแสดงต่างๆ เช่น โขน ละคร และลิเก เป็นต้น การประสมวงปี่พาทย์ที่นิยมบรรเลงอยู่ในปัจจุบันมี 6 รูปแบบวง คือ วงปี่พาทย์ชาตรี วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และวงปี่พาทย์มอญ

1.วงปี่พาทย์ชาตรี

        การประสมวงดนตรีชนิดนี้เริ่มปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีเชื่อเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าปี่พาทย์เครื่องห้าชนิดเบา ทั้งนี้คงเนื่องมาจากการพิจารณาตามขนาดและน้ำหนักของเครื่องดนตรีที่มีขนาดเล็กและเบานั่นเอง วงดนตรีชนิดนี้นิยมใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี จึงมีชื่อเรียกวงดนตรีตามรูปแบบของการแสดงละครชาตรี วงปี่พาทย์ชาตรีประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้

ปี่นอก            1 เลา
โทน              1 คู่
กลองชาตรี      1 ใบ
ฆ้องคู่            1 ชุด
ฉิ่ง               1 คู่
 



2.วงปี่พาทย์ไม้แข็ง

        จัดเป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยาอย่างแพร่หลายสูงสุดในกลุ่มวงดนตรีชนิดเดียวกัน นอกจากนั้นตามทรรศนะของนักดนตรีเอง ต่างยอมรับกันโดยทั่วกันว่าเป็นวงดนตรีที่มีความเป็นมาตรฐานที่สูงสุดอีกด้วย เครื่องดนตรีที่สังกัดในวงดนตรีประเภทนี้ทุกเครื่องจะมีเสียงดัง เนื่องจากบรรเลงด้วยไม้ตีชนิดแข็ง จึงเรียกชื่อวงดนตรีชนิดนี้ว่า ปี่พาทย์ไม้แข็ง ตามลักษณะของไม้ที่ใช้บรรเลง อรรถรสที่ได้จากการฟังดนตรีชนิดนี้จึงมีทั้งความหนักแน่น สง่าผ่าเผย คล่องแคล่ว และสนุกครึกครื้น วงปี่พาทย์ไม่แข็งสามารถแบ่งตามขนาดของความเล็ก-ใหญ่ได้เป็น 3 ขนาด คือ วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้า วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ และวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่

        วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้า ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีรายการละหนึ่ง จำนวน 6 เครื่อง สาเหตุที่เรียกเครื่องห้าอาจเป็นเพราะตะโพนและกลองทัดจัดเป็นเครื่องดนตรีตระกูลเครื่องหนังหรือกลองทั้งคู่ จึงนับจำนวนหน่วยเป็นหนึ่ง เครื่องดนตรีต่างๆ มีดังนี้
ปี่ใน               1 เลา
ระนาดเอก        1 ราง
ฆ้องวงใหญ่      1 วง
ตะโพน           1 ใบ
กลองทัด          1 คู่
ฉิ่ง                1 คู่

 



        วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ วงปี่พาทย์ชนิดนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมกับการประดิษฐ์คิดสร้างระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเพื่อให้คู่กับระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่ สาเหตุที่วงปี่พาทย์ไม้แข็งชนิดนี้ถูกเรียกว่าเครื่องคู่นั้น คงเนื่องมาจากรูปแบบของการประสมวงที่กำหนดจำนวนเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงทำนองให้เป็นอย่างละสองเครื่องหรือเป็นคู่ กล่าวคือ ปี่ 1 คู่ ระนาด 1 คู่ และฆ้องวง 1 คู่ เครื่องดนตรีที่ประสมอยู่ในวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ ประกอบด้วย

ปี่ใน               1 เลา
ปี่นอก             1 เลา
ระนาดเอก        1 ราง
ระนาดทุ้ม        1 ราง
ฆ้องวงใหญ่      1 วง
ฆ้องวงเล็ก        1 วง
ตะโพน            1 ใบ
กลองทัด          1 คู่
ฉิ่ง                1 คู่
ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม

 



        วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่เป็นหลัก โดยเพิ่มระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กอีก 2 ราง ระนาดเหล็กทั้งสองรางนี้ นักดนตรีมักเรียกกันว่า “หัว-ท้าย” ทั้งนี้คงเนื่องจากระเบียบการจัดวงที่เครื่องดนตรีทั้งสองนี้ ถูกกำหนดตำแหน่งให้อยู่ด้สนหัวและท้ายของวงนั่นเอง วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้

ปี่ใน                     1 เลา
ปี่นอก                   1 เลา
ระนาดเอก              1 ราง
ระนาดทุ้ม              1 ราง
ระนาดเอกเหล็ก        1 ราง
ระนาดทุ้มเหล็ก        1 ราง
ฆ้องวงใหญ่            1 วง
ฆ้องวงเล็ก              1 วง
ตะโพน                 1 ใบ
กลองทัด                1 คู่
ฉิ่ง                      1 คู่
ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม

 



        วงปี่พาทย์ไม้แข็งทั้ง 2 ขนาด ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น วัตถุประสงค์หลักของการรวมวง มุ่งเน้นไปที่การบรรเลงประกอบพิธีกรรมและการแสดงโขน ละครเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายของการบรรเลงในลักษณะของการขับกล่อม ดังนั้นในกรรีที่ต้องการบรรเลงขับกล่อม วงดนตรีชนิดนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนเอากลองทัดและตะโพนซึ่งมีเสียงดันออก และใช้กลองสองหน้าหรือกลองแขกบรรเลงจังหวะหน้าทับแทน การประสมวงในลักษณะนี้เรียกว่า “วงปี่พาทย์เสภา” ใช้ประกอบการบรรเลงร้อง-ส่ง ประกอบด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ ดังนี้

ปี่ใน               1 เลา
ปี่นอก             1 เลา
ระนาดเอก        1 ราง
ระนาดทุ้ม        1 ราง
ฆ้องวงใหญ่      1 วง
ฆ้องวงเล็ก        1 วง
กลองสองหน้า    1 ใบ
ฉิ่ง            1 คู่
ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม

 



3.วงปี่พาทย์ไม้นวม


        วงปี่พาทย์ไม้นวมเกิดขึ้นเพราะความต้องการวงดนตรีที่มีเสียงไม่ดังจนเกินไป มีความนุ่มนวล เพื่อสำหรับบรรเลงประกอบการแสดงละครที่พัฒนาขึ้นในสมัยหลัง จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบของเครื่องดนตรีและการประสมวงของวงปี่พาทย์ไม้แข็งเสียใหม่ กล่าวคือ ไม้ที่ใช้สำหรับบรรเลงระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็กที่แต่เดิมเคยใช้ไม้แข็งบรรเลงนั้น ก็เปลี่ยนมาใช้ไม้นวมบรรเลงแทน เครื่องเป่าแต่เดิมที่ใช้ปี่ซึ่งมีเสียงดังมากจึงเปลี่ยนมาใช้ขลุ่ยเพียงออซึ่งมีเสียงที่เบากว่า นอกจากนั้นยังเพิ่มซออู้เข้าไปอีก 1 คัน ทั้งนี้เพื่อให้วงมีเสียงทีนุ่มนวลและกลมกล่อมมากขึ้นกว่าเดิม วงปี่พาทย์ไม้นวมมีอยู่ 3 ขนาด คือ เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ ขนาดความเล็ก-ใหญ่ของวงทั้ง 3 นั้น ขึ้นอยู่กับอัตราการเพิ่มของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีเป็นสำคัญ

4.วงปี่พาทย์นางหงส์

        วงปี่พาทย์ชนิดนี้มีรูปแบบของวงคล้ายคลึงกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง มีการปรับเปลี่ยนเอาปีชวามาบรรเลงแทนปี่ในและปี่นอก ใช้กลองมลายูแทนกลองทัดและตะโพน วงปี่พาทย์นางหงส์ใช้บรรเลงเฉพาะในพิธีศพเท่านั้น ในปัจจุบันวงดนตรีชนิดนี้หาโอกาสที่จะฟังได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนนิยมจัดหาปี่พาทย์มอญมาบรรเลงแทน วงปี่พาทย์นางหงส์แบ่งออกเป็น 3 ขนาดเช่นเดียวกับปี่พาทย์ไม้แข็ง แต่อย่างก็ตาม วงปี่พาทย์นางหงส์ขนาดเครื่องคู่จัดเป็นขนาดที่ได้รับความนิยมสูงสุด ประกอบด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ ดังนี้



5.วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์


        วงดนตรีชนิดนี้ใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นละครที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงปรับปรุงให้ละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) มีฉากเปลี่ยนไปตามเนื้อเรื่อง และตัวละครสามารถพูดเจรจาเองได้โดยไม่ต้องอาศัยคนพากย์ เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ชนิดนี้ คัดเลือกเอาเฉพาะเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มต่ำนุ่มนวล ซึ่งประกอบด้วย ดังนี้
 
ระนาดเอก          1 ราง
ระนาดทุ้ม          1 ราง
ระนาดทุ้มเหล็ก    1 ราง
ฆ้องวงใหญ่        1 วง
ซออู้                 1 คัน
ขลุ่ยอู้               1 เลา
ขลุ่ยเพียงออ        1 เลา
ฆ้องหุ่ย             1 ชุด (7 ใบ)
ตะโพน             1 ใบ
กลองตะโพน       1 ใบ
กลองแขก           1 คู่
ฉิ่ง                  1 คู่

 


6.วงปี่พาทย์มอญ

        วงปี่พาทย์มอญเป็นวงดนตรีที่ปัจจุบันนิยมใช้บรรเลงในงานศพ แต่เดิมทีเดียววงดนตรีชนิดนี้บรรเลงกันเฉพาะในหมู่ของชาวไทยรามัญเท่านั้น บรรเลงทั้งในโอกาสมงคลและอวมงคลทั่วไป มิได้จำกัดเฉพาะพิธีศพเช่นในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเดิมทีเดียว วงดนตรีประเภทนี้จะเป็นที่นิยมแพร่หลายเฉพาะในหมู่ของชาวไทยรามัญ แต่กาลเวลาอันยาวนานนั้นได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนผสมผสานเป็นรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ใหม่เฉพาะตัว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในด้านของเครื่องดนตรี การประสมวงและบทเพลงที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ล้วนเป็นภูมิปัญญาและผลผลิตของคีตาจารย์ไทยเกือบทั้งสิ้น




        ลักษณะที่เด่นชัดของวงปี่พาทย์มอญจะมีระดับเสียงที่ทุ้มต่ำกังวานลึก เครื่องดนตรีที่มีลักษณะแตกต่างจากวงดนตรีชนิดอื่นอย่างเด่นชัด ได้แก่ เปิงมางคอก ปี่มอญ ตะโพนมอญ และฆ้องมอญ นอกเหนือจากนั้นล้วนมีอยู่ในวงปี่พาทย์ชนิดอื่นทั้งสิ้น วงดนตรีชนิดนี้แบ่งเป็น 3 ขนาดเช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง อย่างไรก็ตาม วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่นับได้ว่าเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด เครื่องดนตรีที่สังกัดในวงปี่พาทย์มอญขนาดต่างๆ มีดังนี้



วงมโหรี


        วงมโหรีจัดเป็นวงดนตรีโบราณวงหนึ่งของไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระราชกำหนดห้ามมิให้ผู้อื่นหัดละครผู้หญิง ยกเว้นละครที่เป็นของหลวงซึ่งรู้จักกันว่าละครใน ดังนั้น บรรดาเจ้านายและขุนนางบางส่วนจึงให้บริวารผู้หญิงฝึกหัดมโหรีและผู้ชายฝึกหัดปี่พาทย์ บางส่วนก็ฝึกหัดละครชายล้วน ซึ่งรู้จักกันว่าละครนอก ในช่วงระยะเวลาที่มโหรีนิยมบรรเลงแต่เฉพาะในหมู่ผู้หญิงนั้น เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีทุกชนิด เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม และฆ้องวง จะมีขนาดที่เล็กกว่าเครื่องตีในวงปี่พาทย์ที่นิยมเล่นในหมู่ผู้ชาย ทั้งนี้เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการเครื่อนไหวของผู้หญิงและคุณภาพของเสียง เมื่อบรรเลงร่วมกับเครื่องสายเป็นเกณฑ์สำคัญ รูปแบบของการประสมวงและจำนวนของเครื่องเนตรีก็มีลักษณะที่แตกต่างไปจากวงมโหรีในปัจจุบัน

        ครั้นถึงรัชสมัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนั้น จึงยังผลให้บรรดาเจ้านายและขุนนางกลับมาฝึกหัดบริวารหญิงให้เป็นคณะละครขึ้นมาใหม่ วงมโหรีหญิงจึงเริ่มซบเซา ในช่วงเวลาเดียวกันมีผู้ชายบางกลุ่มเริ่มสนใจเครื่องสายและนำมาบรรเลงร่วมกับเครื่องปี่พาทย์ที่พวกตนบรรเลงอยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดเป็นรูปแบบของการประสมวงแบบใหม่ซึ่งรู้จักกันในขณะนั้นว่า “วงมโหรีเครื่องสาย” ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ใช้เฉพาะผู้ชายบรรเลง ต่อมาภายหลังทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็เข้ามาบรรเลงร่วมกัน ปัจจุบันจึงเรียกการประสมวงชนิดนี้ในภาพรวมว่า “วงมโหรี”

        ในด้านคุณลักษณะของเสียง วงมโหรีจัดเป็นการประสมวงที่มีความสมบูรณ์ในด้านเสียงสูงสุด กล่าวคือ เป็นการนำเอาเครื่องดนตรีทำทำนองของวงปี่พาทย์ที่มีเครื่องตี คือ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ร่วมกับเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายที่มีเครื่องดีด คือ จะเข้ เครื่องสี คือ ซอด้วง และซออู้ และเครื่องเป่า คือ ขลุ่ย ดังนั้น การนำเอาวงปี่พาทย์และวงเครื่องสายมารวมกัน จึงทำให้วงมโหรีเป็นการร่วมกันของเครื่องดนตรีทุกตระกูล คือ ดีด สี ตี และเป่า

        วงมโหรีมีอยู่ 3 ขนาดเช่นเดียวกับการประสมวงปี่พาทย์ คือ วงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่ และวงมโหรีเครื่องใหญ่ เครื่องดนตรีที่ประสมอยู่ในวงมโหรีขนาดต่างๆ มีดังนี้




        นอกจากนี้วงดนตรีทั้ง 3 ประเภทหลัก คือ วงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ และวงมโหรี ตามี่กล่าวมาแล้วนั้น ในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบการประสมวงที่ใช้ผูบรรเลงเป็นจำนวนมาก ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับวงดุริยางค์ตะวันตก โดยเรียกการประสมวงแบบนี้ว่า “วงมหาดุริยางค์ไทย”



คัดลอกจากหนังสือดนตรีวิจักษ์(เพื่อวิทยาทานแก่ผู้ศึกษาวิชาดนตรีไทยครับ)

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Thursday, 10 February 2011 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น